ความเป็นมาของ .th

ความเป็นมาของการมี ชื่อโดเมน หรือ ชื่อเว็บไซต์ ที่ลงท้ายด้วย .TH  ซึ่งเป็นชื่อโดเมนระดับบนสุดหมวดรหัสประเทศ ccTLD (Country Code Top-Level Domain) 

มีต้นกำเนิดมาจากการทดลองในยุคเริ่มต้นของการพัฒนาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศไทยซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2529 โดยความพยายามเชื่อมเครือข่ายคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยของ ดร.กาญจนา กาญจนสุต และ ดร.โทโมโนริ คิมูระ อาจารย์ประจำในสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT)  เพื่อรับส่งอีเมล์กับมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับความร่วมมือจากนาย โรเบริต์ เอลซ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น โดยในขณะที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนชื่อโดเมนรหัสประเทศไทย 

และเนื่องจากการ เชื่อมต่อยังไม่ได้ใช้ทีซีพี/ไอพี (TCP/IP) ทางออสเตรเลียได้พัฒนาโปรแกรม MHSnet เพื่อใช้ในการรับส่งจดหมายและแฟ้มผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งต้องใช้ชื่อโดเมนประจำคอมพิวเตอร์ 

ดร.กาญจนา กาญจนสุต จึงได้ขอจดทะเบียนชื่อโดเมนรหัสประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2531 ส่งผลให้มีชื่อโดเมนรหัสประเทศอยู่ในระบบดีเอ็นเอสภายใต้ชื่อ .th ตั้งแต่นั้นมา 

ภายหลังได้เกิดการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ทำให้ต้องเปิดบริการจดทะเบียนชื่อโดเมน อย่างเป็นทางการขึ้น โดย ดร.กาญจนา กาญจนสุต และคณะได้รับภาระจัดหาบุคลากรเพื่อบริหารระบบชื่อโดเมนรวมทั้ง แสวงหาแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินการเพื่อก่อตั้ง ทีเอชนิค (THNIC: Thailand Network Information Center) ขึ้น สำหรับทำหน้าที่เป็นหน่วยงานดูแลระบบทะเบียนและให้บริการจดทะเบียนโดยมี สถานะเป็นศูนย์บริการ จดทะเบียนชื่อโดเมนซึ่งตั้งอยู่ภายในเอไอที ซึ่งให้บริการจดทะเบียน ชื่อโดเมนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแรกเริ่มเป็นกลุ่มสถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกำไร 

อีกทั้งการบริหารและดูแลระบบเนมเซิร์ฟเวอร์และ ระบบข้อมูลอาศัยอาสาสมัครทั้งที่เป็น อาจารย์และนิสิตในมหาวิทยาลัย ชื่อโดเมนที่ ลงท้ายด้วย .th ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นชื่อแรกคือ ait.th และมีชื่อโดเมนของมหาวิทยาลัย อีกสองแห่งคือ psu.th และ chula.th โดยในขณะนั้นยังไม่มีการแบ่ง ย่อยหมวดหมู่ของชื่อโดเมน .th 

ในปี 2535 ประเทศไทยได้มีสถานภาพที่สามารถเชื่อมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มมีการอนุญาตจากภาครัฐให้เอกชนสามารถเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ในประเทศไทย จึงได้รับความนิยมและแพร่ขยาย เพิ่มขึ้นอีกจากการเปิดกิจการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพีทำให้มี บริษัทธุรกิจ และหน่วยงานอื่นที่ทั้งดำเนินงานแบบ แสวงหาและไม่แสวงหากำไรเริ่มเข้ามาขอจดทะเบียนชื่อโดเมนเพิ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่ยื่นขอบริการผ่านมาทางผ่านทางไอเอสพี ทำให้ทีเอชนิคเริ่มประสบปัญหาจากการที่บุคคลากร แบบอาสาสมัครไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีแหล่งทุนสนับสนุนใด ๆ โดยตรงเพื่อใช้ในการบริหารระบบชื่อโดเมนจึงเป็นที่มาของการการเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนชื่อโดเมนภายใต้ .th ขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2542 โดยกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนชื่อโดเมนแรกเริ่มในอัตรา 1,605 บาท (หรือ 55 เหรียญสหรัฐ) รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ค่าธรรมเนียมนี้จะครอบคลุมระยะเวลาสองปี และจากนั้นจะเสียค่าธรรมเนียมการรักษาชื่อโดเมนปีละ 856 บาท (หรือ 28 เหรียญสหรัฐ) รวมภาษีมูลค่า เพิ่มแล้ว 

สำหรับชื่อโดเมนที่ได้จดทะเบียนไปก่อนหน้านั้นทีเอชนิคไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า แต่จะเริ่มต้นเก็บค่าธรรมเนียมการรักษา ชื่อโดเมนปีละ 856 บาท 

ทีเอชนิค จึงได้เริ่มดำเนินงานในรูปแบบนิติบุคคลบริษัทในชื่อ บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 โดยมีทะเบียน นิติบุคคล เลขที่ บอจ.ปท.3725 โดยมีบุคลากรประจำขณะนั้น 11 คน และอาสาสมัครอีกจำนวนหนึ่ง สถานที่ตั้งปัจจุบันอยู่ภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย (Thailand Science Park) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 

หลังจากนั้นต่อมาเมื่อการขยายตัวของการจดชื่อโดเมนขยายจำนวนการจดเพิ่มไป พร้อม ๆ กับการขยายตัวสู่ความนิยมของภาคเอกชนในการใช้อินเทอร์เน็ต จึงได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านเครือข่ายขึ้นที่เอไอทีและได้ตกลง กันในครั้งนั้นว่าควร จัดหมวดหมู่ชื่อโดเมนประเทศขึ้น โดยในระยะแรกนั้นการจดชื่อโดเมนแบ่งออกเป็น 6 หมวดหมู่ ac.th, co.th, go.th, mi.th, net.th และ or.th ซึ่งผู้จดทะเบียน ชื่อโดเมนจะต้องได้รับการตรวจสอบหลักฐานและความเหมาะสมก่อนจะได้รับอนุมัติ ในชื่อโดเมนนั้นๆ 

ถัดมาในปี 2542 ทีเอชนิคได้มีการสอบถามความเห็นประชาชนทั่วไปผ่านทางหน้าเว็บเกี่ยวกับการ เพิ่มหมวดหมู่ชื่อโดเมนลำดับที่สอง ภายใต้ .th ชื่อใหม่นี้ จะเป็น in.th ( in เป็นชื่อย่อมาจาก in Thailand) และในที่สุดจึงได้มีการดำเนินการให้บริการในวันที่ 19 มีนาคม 2542 และในความเคลื่อนไหวล่าสุดจากการที่เริ่มมี การพยายามใช้ชื่อโดเมนที่ไม่ใช่ ASCII Character โดยเพิ่มความสามารถในการใช้ชื่อโดเมนเป็นตัวอักขระท้องถิ่น (Unicode Character) ทีเอชนิคจึงเริ่มเปิดให้จดทะเบียนชื่อโดเมนภาษาไทย ภายใต้โดเมนระดับบนสุด (Top Level Domain) .th ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2547 เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามจากความพยายามยืนหยัดในวัตถุประสงค์เดิมของทีเอชนิค ทำให้ในปี 2550 ได้มีการจัดตั้ง  มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (Thai Network Information Center Foundation – THNIC Foundation)  ขึ้นเพื่อดำเนินงานแบบไม่แสวงหากำไรและมุ่งพัฒนาสังคมอินเทอร์เน็ต ของประเทศไทยในภาพรวม 

ชื่อโดเมน .th และ .ไทย

ชื่อโดเมนของประเทศไทย ศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า โดเมนระดับบนสุดหมวดรหัสประเทศ หรือ Country-Code Top-Level Domain (ccTLD) เป็นชื่อโดเมนเนมที่ลงท้ายด้วย .th ซึ่ง มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC Foundation) ได้รับอนุมัติจาก ICANN ให้เป็นผู้ดูแล สำหรับเว็บไซต์ที่ต้องการใช้ชื่อโดเมนเนมที่ต้องการบ่งบอกความเป็นไทยด้วยการใช้นามสกุล .th 

ข้อดีของ .th

ได้ชื่อโดเมน .ไทย ฟรี

เมื่อจดทะเบียนโดเมน .th ก็จะได้รับสิทธิ์จดทะเบียนโดเมน .ไทย ฟรี คู่กับชื่อโดเมน .th ตามตารางดังนี้

.in.th

.ไทย

สำหรับบุคคลทั่วไป (รวมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตามกฎหมาย)

.ac.th

.ศึกษา.ไทย

สำหรับสถานศึกษา

.co.th

.ธุรกิจ.ไทย

สำหรับธุรกิจเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือเครื่องหมายการค้า

.go.th

.รัฐบาล.ไทย

สำหรับส่วนราชการและโครงการในกำกับของหน่วยงานภาครัฐ

.mi.th

.ทหาร.ไทย

สำหรับหน่วยงานทางทหาร

.or.th

.องค์กร.ไทย

สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือโครงการเพื่อสังคม

.net.th

.เน็ต.ไทย

สำหรับผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อโดเมน .th และ .ไทย

เป็นไปตาม นโยบายการจดทะเบียนชื่อโดเมน .th และ .ไทย ฉบับปรับปรุงปี 2562
สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.thnic.or.th/domain-registration

ที่มาข้อมูล https://www.thnic.or.th/cctld_th/

ตารางงาน

เดือนกุมภาพันธ์

สถิติผู้เข้าเว็บ เริ่ม 19 กพ 67